เบรดบอร์ดแผงทดลองต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์

เบรดบอร์ดแผงทดลองต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์

อุปกรณ์พื้นฐานที่นักทดลองวงจรอิเล็กทรอนิกส์รู้จักและใช้งานตั้งแต่วันที่ก้าวเข้าสู่วงการ นี่คือตัวช่วยสำคัญในการเรียนรู้ ทดลอง ทดสอบ และพัฒนาโครงงานต้นแบบ

ใน​การ​เรียนรู้​ และ​ทดลอง​วงจร​ หรือ​โครงงาน​อิเล็กทรอนิกส์​ การ​ต่อ​วงจร​เพื่อ​ทดสอบ​การ​ทำงาน​เป็น​สิ่ง​ที่​จำเป็น​อย่างยิ่ง มี​วิธีการ​มากมาย​ใน​การ​ต้อ​หรือ​สร้าง​วงจร​ทาง​ฮาร์ดแวร์​ขึ้น​มา ไม่ว่า​จะ​เป็นการ​ต่อ​วงจร​โดย​ใช้​ปากคีบ การ​ใช้​สายไฟ​มา​พัน​ที่​ขา​อุปกรณ์ การ​บัดกรี​ขา​อุปกรณ์​ต่างๆ เข้า​ด้วยกัน​แบบ​ตรงไป​ตรง​มา การ​ใช้​แผ่น​วงจร​พิมพ์​เอ​นก​ประสงค์ การ​ทำ​แผ่น​วงจร​พิมพ์​จริงๆ ขึ้น​มา หรือ​การ​ใช้​อุปกรณ์​
ที่​เรียกว่า ​เบรด​บอร์ด (breadboard) หรือ​เรียก​เป็น​ภาษาไทย​ว่า​แผง​ต่อ​วงจร

ทำไม​ต้อง​ใช้​เบรด​บอร์ด
การ​ต่อ​วงจร​แบบ​ชั่วคราว​หรือ​การ​ทดลอง​วงจร​ขั้นต้น รวมถึง​การ​ทำ​ต้นแบบ สิ่ง​ที่​นัก​ออกแบบ​หรือ​นัก​ทดลอง
​ต้องการ​คือ ความ​ยืดหยุ่น​ใน​การ​เปลี่ยน​อุปกรณ์ การ​ปลด​และ​ต่อ​สาย​สัญญาณ​ที่​สะดวก​รวดเร็ว ในขณะที่​ยังคง​เชื่อถือ​ได้​ใน​ความ​แน่นหนา​ของ​จุด​ต่อ​สัญญาณ​ต่างๆ จาก​ความ​ต้องการ​ดังกล่าว​นั่นเอง ทำให้​เบรด​บอร์ด​เป็น​ทางเลือก​ที่​ดี​ เนื่องจาก

1. รองรับ​การ​ต่อ​ร่วมกัน​ของ​ขา​อุปกรณ์ เนื่องจาก​บน​เบรด​บอร์ด​มี​จุด​ต่อ​จำนวน​มาก​และ​มี​การ​จัด​เรียง​ที่​เป็น​ระเบียบ ​ทำให้​ง่าย​ต่อ​การ​ต่อ​วงจร และ​ตรวจสอบ

2. การ​ถอด​เปลี่ยน​อุปกรณ์ทำได้​ง่าย ​อุปกรณ์มี​ความ​เสียหาย​จาก​การ​ถอด​เปลี่ยน​น้อยมาก

3. การ​เปลี่ยน​จุด​ต่อ​สัญญาณ​ทำได้​ง่ายมาก เพียง​ดึง​สาย​ออกจาก​จุด​ต่อ​ แล้ว​เปลี่ยน​ตำแหน่ง​ได้​ใน​ทันที

4. จุด​ต่อ​มี​ความ​แน่นหนา​เพียงพอ ไม่​หลุด​ง่าย ทำให้​ลด​ปัญหา​การ​เชื่อม​ต่อ​ของ​สัญญาณ​ได้

5. สามารถ​ขยาย​พื้นที่​ของ​การ​ต่อ​วงจร​ได้​ง่าย หาก​เป็น​อนุกรม​เดียวกัน​สามารถ​ประกอบ​ต่อกันทั้ง​ทาง​ด้านกว้าง​และ​ด้าน​ยาว

6. ใน​เบรด​บอร์ด​ที่​มี​ขนาด​มากกว่า 200 จุด​ต่อ จะ​มี​การ​พิมพ์​ตำแหน่ง​พิกัด​ของ​จุด​ต่อ​ต่างๆ ทำให้​สามารถ​กำหนด​ตำแหน่ง​การ​ต่อ​วงจร​ได้​อย่าง​สะดวก ตรวจสอบ​ง่าย


ใน​รูป​ที่ 1 แสดง​หน้าตา​ของ​เบรด​บอร์ด​ขนาด​ต่างๆ สั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่าง
สั่งซื้อเบรดบอร์ดขนาด 170 จุด
สั่งซื้อเบรดบอร์ดขนาด 390 จุด

โครงสร้างของเบรดบอร์ด
เบรด​บอร์ด (breadboard) หรือ แผง​ต่อ​วงจร เป็น​แผง​พลาสติก​ที่​มี​การ​จัด​แบ่ง​เป็นกลุ่ม โดย​ภายใน​แต่ละ​กลุ่ม​บรรจุ​แผง​โลหะ​ตัวนำ​ปลอด​สนิม แล้ว​ทำการ​เจาะ​รู​บน​แผง​พลาสติก​นั้น เพื่อให้​สามารถ​นำ​สายไฟ​ขนาดเล็ก​เสียบ​เข้าไป​สัมผัสกับ​แผง​โลหะ ในขณะ​เดียวกัน​แผง​โลหะ​ดังกล่าว​ก็​จะ​ทำการ​บีบ​สายไฟ​นั้น​ให้​แน่น​อยู่กับที่ เมื่อ​ผู้ใช้งาน​ต้องการ​ปลด​สายไฟ​ออก​ก็​เพียง​ออก​แรงดึง​เล็กน้อย หน้า​สัมผัส​ของ​แผง​โลหะ​ก็​จะ​คลาย​ออก ทำให้​สายไฟ​สามารถ​หลุด​ออกจาก​จุด​ต่อ​นั้น​ได้ ใน​รูป​ที่ 2 แสดง​ลักษณะ​ภายนอก​และ​โครงสร้าง​ภายใน​ของ​เบรด​บอร์ด


รูป​ที่ 2 ​แสดง​ลักษณะ​ภายนอก​และ​โครงสร้าง​ภายใน​ของเบรด​บอร์ด


รูปที่ 3 แสดงการเชื่อมต่อของเบรดบอร์ดขนาดต่างๆ

ใน​รูป​ที่ 3 แสดง​การ​เชี่​อม​ต่อ​ของ​จุด​ต่อ​อุปกรณ์​ของ​เบรด​บอร์ด 3 ขนาดที่​ได้รับ​ความ​นิยม​ใน​เมืองไทย จะ​เห็น​ได้​ว่า แผง​ต่อ​วงจร​แบ่งออก​เป็น 2 กลุ่ม​ใหญ่ๆ คือ กลุ่ม​ที่​มี​การ​ต่อ​ถึงกัน​ใน​แนวตั้ง ซึ่ง​มี​ด้วยกัน 5 จุด​ต่อ​ใน​หนึ่ง​กลุ่ม​ย่อย และ​กลุ่ม​ที่ต่อ​ถึงกัน​ใน​แนวนอน (จะ​มี​เฉพาะ​ใน​เบรด​บอร์ด​ที่​มี​จำนวน​จุด​ต่อ​มากกว่า 200 จุด) กลุ่ม​หลัง​นี้​จะ​ได้รับ​การ​จัด​วาง​ให้​อยู่​ใน​บริเวณ​ขอบ​บน​และ​ล่าง​ของ​แผง​ต่อ​วงจร มี​ด้วย กัน 2 แถว​ยาว​ต่อ​หนึ่ง​ด้าน รวม 4 แถว ใน​บาง​รุ่น​อาจจะ​มี​การ​แบ่ง​เป็น 2 ส่วน ดังนั้น​ใน​การ​ใช้งาน​หาก​ต้องการ​ให้​แถว​ยาว​แต่ละ​แถว​ต่อ​ถึงกัน​จาก​ซ็าย​ไป​ขวา​ต้อง​ใช้​สายไฟ​เชื่อม​ต่อ​ระหว่าง​จุด​แบ่ง​ของ​แต่ละ​แถว​ด้วย ซึ่ง​เพื่อ​ความ​แน่ใจ​อาจ​ใช้​มัลติ​มิเตอร์​ตรวจสอบ​การ​เชื่อม​ต่อ​ของ​แต่ละ​แถว​ก่อน​การ​ใช้งาน

ใน​เบรด​บอร์ด​ที่​มี​จำนวน​จุด​ต่อมา​กว่า 200 จุด จะ​มี​การ​พิมพ์​ตำแหน่ง​พิกัด​ใน​แนวตั้ง​และ​นอน​ด้วย โดย​ใน​แนวตั้ง 5 จุด​ต่อ​ทั้งสอง​ฝั่ง​มักจะ​กำหนด​พิกัด​เป็น​ตัวอักษร A ถึง E ใน​ฝั่ง​หนึ่ง และ F ถึง J ใน​อีก​ฝั่ง​หนึ่ง ​ส่วน​แนวนอน​เป็น​ตัวเลข

เกี่ยวกับ​สาย​ต่อ​วงจร
สายไฟ​หรือ​สาย​ต่อ​วงจร​ที่​เหมาะกับ​เบรด​บอร์ด​นั้น ควร​เป็นสาย​ทองแดง​เดี่ยว​ที่​ได้รับ​การ​ชุบ​ด้วย​นิเกิล​หรือ​เงิน มี​ความ​แข็งแรง​พอสมควร สามารถ​ดัด​หรือ​ตัด​ได้​ง่าย มี​ขนาด​เส้น​ผ่าน​ศูนย์กลาง 0.4 มิลลิเมตร หรือ​ใช้​สาย​เบอร์ 22AWG ดัง​แสดง​ใน​รูป​ที่ 4 ทั้งนี้​หาก​ใช้​สาย​ที่​มี​ขนาดใหญ่กว่า​นี้​จะ​ทำให้​แผง​โลหะ​ของ​แผง​ต่อ​วงจร​หลวม ไม่​สามารถ​บีบ​จับ​สายไฟ​ได้​อีก


รูปที่ 4 ตัวอย่างของสายต่อวงจร

ใน​ปัจจุบัน​มี​ผู้ผลิต​สาย​สำหรับ​เสียบ​ต่อ​วง​จรบน​เบรด​บอร์ด​โดยเฉพาะ โดย​ทำจาก​สายไฟ​อ่อน​บัดกรี​เข้ากับ​ขา​ตัวนำ​ที่​มี​ความ​แข็ง (คล้ายๆ กับ​ขา​คอ​นเน็กเตอร์) แล้ว​หุ้ม​จุด​เชื่อม​ต่อ​ด้วย​ท่อ​หด​เพื่อ​เพิ่ม​ความ​แข็งแรง​และ​ป้องกัน​การ​หัก​งอ

ไม่​แนะนำ​ให้​ใช้​สายโทรศัพท์​ที่​เป็น​ทองแดง​ล้วนๆ เนื่องจาก​สาย​เหล่านั้น​มี​การ​อาบ​น้ำยา​กันสนิม หาก​นำมาใช้​ต่อ​วงจร​ทันที อาจ​ทำให้​วงจร​ไม่ทำงาน เพราะ​น้ำยา​ที่​เคลือบ​ลวด​ทองแดง​อยู่​มี​คุณสมบัติ​เป็น​ฉนวน​ทำให้​กระแสไฟฟ้า​ไม่​สามารถ​ไหลผ่าน​ไป​ได้ หาก​ต้อง​นำมาใช้​จริงๆ ควร​ใช้​มีด​ขูด​น้ำยา​ที่​เคลือบ​อยู่​ออก​เสีย​ก่อน แต่​นั่น​เท่ากับว่า ได้​ทำลาย​ฉนวน​ป้อง​กันสนิม​ของ​ลวด​ทองแดง​ไป​แล้ว หาก​ใช้​ไป​สัก​ระยะ​หนึ่ง​ก็​จะ​เกิด​สนิม​ที่​สาย​ต่อ​วงจร​นั้น ​เมื่อ​นำมา​ใช้งาน​ก็​อาจ​ทำให้​วงจร​ที่ทำการ​ต่อ​นั้น​ไม่ทำงาน​ได้

การต่อวงจรและการวางอุปกรณ์บนแผงต่อวงจร
ใน​รูป​ที่ 5 เป็นการ​ตัวอย่าง​การ​เตรียม​สาย​ต่อ​วงจร​และ​ดัด​ขา​อุปกรณ์​เพื่อ​เตรียม​ติดตั้ง​ลง​บน​เบรด​บอร์ด การ​ต่อ​วงจร​ที่​ดี​ควร​จัดให้​เป็น​ระเบียบ ตรวจ​สอบได้​ง่าย ใช้​สาย​ต่อ​วงจร​ใน​ปริมาณ​ที่​เหมาะสม ควร​ต่อ​วงจร​ใน​ลักษณะ​ไล่​จาก​ซ้าย​ไป​ขวา และ​จาก​บน​ลง​ล่าง โดย​กำหนด​ให้​อินพุต​ของ​วงจร​อยู่ทาง​ซ้าย​หรือ​ทาง​ตอน​ล่าง ส่วน​เอาต์พุต​อยู่​ทาง​ขวา​หรือ​ตอน​บน ทั้งนี้​เพื่อให้​ง่าย​ต่อ​การ​ตรวจสอบ​ใน​กรณี​ที่ต่อ​วงจร​แล้ว​วงจร​ไม่ทำงาน และ​ช่วย​ใน​การ​แก้ไข​ใน​กรณีที่​ต้อง​ดัดแปลง​วงจร​บางส่วน ทำให้​ไม่​ต้อง​รื้อ​วงจร​แล้ว​ต่อ​ใหม่​ทั้งหมด


รูปที่ 5 ตัวอย่างการเตรียมสายต่อวงจรและดัดขาอุปกรณ์เพื่อเสียบลงบนเบรดบอร์ด

ใน​รูป​ที่ 6 เป็น​ตัวอย่าง​การ​ต่อ​วง​จรบน​เบรด​บอร์ด​จาก​วงจร​ที่​ต้องการ​ทดลอง


รูปที่ 6 ขั้นตอนการต่ออุปกรณ์บนเบรดบอร์ดเพื่อสร้างวงจรตามที่กำหนด